ข้ามไปเนื้อหา

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม)
สาเหตุเสียชีวิตถูกประหาร
คู่สมรสสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
คู่รักชายชาวโปรตุเกส
เจ้าฟ้าน้อย
บุตรกรมขุนเสนาบริรักษ์
บิดามารดาท้าวศรีสัจจา (เปรม) (มารดา)
ญาติสมเด็จพระเพทราชา (พี่ชาย)

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า ท้าวศรีสุลาลักษณ์ มีนามเดิมว่า แจ่ม เป็นนางบาทบริจาริกาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระเพทราชา นางเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหญิงมากรัก เพราะนอกจากจะเป็นพระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ก็ยังมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับชายชาวโปรตุเกสคนหนึ่ง ต่อมาก็มีความสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำให้ชาวเมืองที่พบเห็นพฤติกรรมของนางต่างพากันขับเพลงเกริ่นถึงความไม่เหมาะสมของนาง ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ให้กำเนิดพระบุตรคนหนึ่งที่เกิดจากเจ้าฟ้าน้อยซึ่งเป็นชู้รัก คือ กรมขุนเสนาบริรักษ์ เมื่อเรื่องฉาวปรากฏ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินตัดสินความ พบว่าการกระทำของทั้งสองเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ที่สุดท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถูกลงโทษด้วยการโยนให้เสือกิน

ประวัติ

[แก้]

ครอบครัวและชีวิตช่วงต้น

[แก้]

ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีนามเดิมว่า แจ่ม[1] (มักถูกจำสับสนว่าเป็นแช่ม บุตรสาวของเจ้าแม่วัดดุสิต)[2] เกิดในครอบครัวเชื้อสายผู้ดี ซึ่งมีรกรากเดิมที่บ้านพลูหลวงแถบเมืองสุพรรณบุรี บิดาไม่ปรากฏนาม หากแต่เป็นขุนนางชั้นสูงผู้มีอำนาจยิ่งในกรมคชบาล[3] ส่วนมารดาคือพระนมเปรม นางนมผู้ถวายการบริบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์[4] ต่อมาได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นท้าวศรีสัจจา ผู้คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าคุณวังหน้า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์มีพี่ชายคนหนึ่ง คือ พระยาเพทราชา (ทองคำ) จางวางกรมคชบาลขวา[5] ฟร็องซัว อ็องรี ตุรแปง (François Henry Turpin) ระบุว่าเป็นพระนมเปรมนี้เป็นเครือญาติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย[6]

แจ่มเข้าถวายตัวเข้าเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งพระพระสนมเอก มีบรรดาศักดิ์เป็น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หนึ่งในตำแหน่งสนมเอกสี่ทิศของพระมหากษัตริย์อยุธยาตามโบราณราชประเพณี[7] เอกสารของฟร็องซัว อ็องรี ตุรแปง ระบุว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์คือ "... ผู้มีความงามมากและเป็นที่ชื่นชมของทุกคน..." และ "...เป็นสนมเอกที่โปรดปรานคนหนึ่ง..."[8] ส่วนเอกสารของบาทหลวงเดอ แบซ ระบุว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ "...เป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากลและแคล่วคล่องว่องไว กอปรทั้งเป็นคนมีหน้ามีตาอยู่ในที่นั้น..."[9]

กรณีทำชู้พระอนุชา

[แก้]

กล่าวกันว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นหญิงงามผู้มักมากในกามคุณ มักหาข้ออ้างออกจากพระราชฐานชั้นในเพื่อไปสังวาสกับกระทาชายต่างด้าวในหมู่บ้านโปรตุเกสอย่างไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะการจงใจทำให้ตนเองเป็นแผลที่ขา และขอออกจากพระราชฐานชั้นในไปรักษาแผลกับนายแพทย์ดาเนียล บร็อชบรูด์ (Daniel Brochebroude) หรือออกพระแพทย์โอสถ ศัลยแพทย์ชาวดัตช์เชื้อสายฝรั่งเศสที่รู้เห็นเป็นใจ โดยอ้างกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าเป็นแผลฉกรรจ์ และเลี้ยงแผลให้นานหาย จนประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมของนางต่างพากันขับเพลงเกริ่นความอัปรีย์ของนางผู้อื้อฉาวไปทั่วพระนคร ซึ่งผิดปรกวิสัยของชาวสยามที่รักสงบ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าตนถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้นางอยู่แต่ในพระราชวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นอีก[10]

จากการที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต้องอยู่แต่ในเขตพระราชฐานชั้นในของพระราชวังที่ห้อมล้อมไปด้วยสาวสรรกำนัลใน มีเพียงแต่เจ้าฟ้าน้อย เจ้าหนุ่มรูปงามเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่นางจะสานสัมพันธ์ได้ เธอจึงหาลู่ทางในการมีปฏิสัมพันธ์ให้เจ้าฟ้าน้อยพอพระทัย จนนำไปสู่สัมพันธ์สวาทในที่สุด[10] วันหนึ่งนางลักลอบนำฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าน้อยไปไว้ในห้องส่วนตัวของเธอ หมายจะให้เจ้าฟ้าน้อยไปหาฉลองพระองค์ที่ห้องของเธอ แต่เจ้าฟ้าน้อยมิได้เฉลียวพระทัยจึงเข้าใจว่าฉลองพระองค์หายไปจริง ๆ เมื่อเรื่องถึงพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพิโรธว่ามีคนมาขโมยทรัพย์ของพระราชอนุชาถึงในเขตพระราชฐาน และผู้ที่จะหยิบออกไปได้ก็มีแต่ผู้ที่มาจากพระราชฐานฝ่ายในเท่านั้นจึงมีรับสั่งให้ผู้คนค้นหาให้ทั่วทันที โดยเข้าค้นที่ห้องของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ก่อน ก็พบฉลองพระองค์เจ้าฟ้าน้อยอยู่ในห้องอย่างโจ่งแจ้ง เหล่านางทาสีจึงรีบเอาตัวรอด ชิงกราบบังคมทูลความระยำตำบอนของท้าวศรีจุฬาลักษณ์จนสิ้น หลังจากนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นผู้วินิจฉัยคดีความของเจ้าฟ้าน้อยและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เพราะไม่ทรงถือพระโทสจริตหรือวินิจฉัยโทษด้วยพระองค์เอง หนึ่งในคณะที่ปรึกษาดังกล่าวคือพระเพทราชาพี่ชายของท้าวศรีจุฬาลักษณ์เอง ที่มิได้ขอพระราชทานอภัยโทษแก่น้องสาวตนเอง ทั้งยังพิพากษาประหารชีวิตน้องสาวผู้มีพระคุณแก่ตนเสียด้วยด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สุดท้ายได้วินิจฉัยว่าเจ้าฟ้าน้อยและท้าวศรีจุฬาลักษณ์มีความผิดจริง จึงพิพากษาให้ประหารท้าวศรีจุฬาลักษณ์ด้วยการโยนให้เสือกิน ส่วนเจ้าฟ้าน้อยถูกพิพากษาให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ แต่กรมหลวงโยธาทิพ พระราชขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษว่า "[อย่าได้มี] พระโทสจริตโดยลงโทษเอาให้ถึงแก่ชีวิตเลย ขอเพียงให้ทรงลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตรเท่านั้นเถิด"[10] สมเด็จพระนารายณ์มิกล้าขัดคำขอร้องของพระราชขนิษฐาอันเป็นที่รัก จึงเปลี่ยนการลงทัณฑ์ด้วยการเฆี่ยนด้วยหวายแทน แล้วให้พระเพทราชาและพระปีย์ร่วมกันเฆี่ยนอย่างรุนแรงจนเจ้าฟ้าน้อยสลบไป[10] หลังจากนั้น เจ้าฟ้าน้อยพระวรกายบวม มีพระอาการอ่อนเปลี้ยที่พระเพลา และมีพระอาการอัมพาตที่พระชิวหา หลายคนเชื่อว่าพระองค์แสร้งเป็นใบ้ กระนั้นขุนนางชั้นผู้ใหญ่และกรมหลวงโยธาเทพก็ยังสมัครรักใคร่เจ้าฟ้าน้อยอยู่[10] เจ้าฟ้าน้อยยังทรงแค้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ประหารท้าวศรีจุฬาลักษณ์มิเสื่อมคลาย และตั้งพระทัยว่าหากสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคต จะนำพระบรมศพไปเสียบประจานเพื่อแก้แค้นแทนชู้รักที่ตายไป[11]

ในช่วงเวลาก่อนหน้าไม่นาน ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ให้ประสูติการพระโอรสนามว่าหม่อมแก้ว ก่อนจะถูกนำตัวไปประหาร[11] ในเอกสารของฟร็องซัว อ็องรี ตุรแปง (François Henri Turpin) ที่เรียบเรียงจากบันทึกของสังฆราชแห่งตาบรากา (Bishop of Tabraca) ให้ข้อมูลว่าพระโอรสนี้เป็นบุตรที่เกิดกับเจ้าฟ้าน้อย ดังความตอนหนึ่งว่า "...น้องสาว [ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ น้องสาวพระเพทราชา] ผู้มีความงามมากและเป็นที่ชื่นชมของทุกคนถูกถวายตัวเป็นพระสนมและเป็นสนมเอกที่โปรดปรานคนหนึ่งด้วย แต่โชคไม่ดีที่นางมีครรภ์ เพราะเป็นชู้กับพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นความลับอยู่เป็นเวลานาน พระสนมผู้ไม่ซื่อสัตย์จึงถูกจับได้แล้วถูกลงโทษโยนให้เสือกิน"[8][12] ด้วยความที่เป็นลูกชู้ หม่อมแก้วจึงไม่ได้รับการยอมรับหรือยกย่องเหมือนพระราชบุตรพระองค์อื่น ๆ ตลอดรัชกาล[11] กระทั่งสมเด็จพระเพทราชาเสวยราชสมบัติจึงโปรดเกล้าสถาปนาพระโอรสที่ประสูติแต่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์อยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระว่า ตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีสุลาลักษณ์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์[13] ส่วน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าทรงสถาปนาพระเจ้าหลานเธอพระองค์แก้วขึ้นเป็นกรมขุนเสนาบุรีรักษ์[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ภูธร ภูมะธน. โกษาปาน ราชทูตกู้แผ่นดิน. กรุงเทพฯ : สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้), 2550, หน้า 33
  2. หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย. ประวัติโกษาปานและบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2530, หน้า 186
  3. "ชิงอำนาจการเมือง 'บ้านพลูหลวง' ขรรค์ชัย-สุจิตต์ สะกิดเฟคนิวส์ 'พระเพทราชาถูกใส่ร้าย'". มติชนออนไลน์. 2 มีนาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. มองซิเออร์ เดอ วีเซ (เขียน) เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ (แปล). จดหมายเหตุโกศาปานไปฝรั่งเศส. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2560, หน้า 387
  5. พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุทธยา. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2523, หน้า 110, 238
  6. "...พระเพทราชามีเชื้อสายกษัตริย์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระนารายณ์..." อ้างใน ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (เขียน), สมศรี เอี่ยมธรรม (แปล). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522, หน้า 72-77
  7. สุจิตต์ วงษ์เทศ. ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว ?. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2557, หน้า 73
  8. 8.0 8.1 ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (เขียน), สมศรี เอี่ยมธรรม (แปล). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522, หน้า 76-77
  9. "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมผู้มักมากด้วยกาม ลอบสวาทสัมพันธ์กับอนุชาพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม. 9 กรกฎาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 ขจร สุขพานิช. ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2560, หน้า 222-226
  11. 11.0 11.1 11.2 กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563, หน้า 263
  12. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (11 กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 105
  13. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 318
  14. คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553, หน้า 413